Hazardous Wastes ขยะของเสีย สารพิษในชีวิตประจำวัน

สารพิษ สามารถแบ่งออกเป็นหลายชนิด


1. สารพิษป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (Pesticides) หมายถึง สารเคมีหรือส่วนผสมของสารเคมีใดๆ ก็ตาม ที่ใช้ป้องกันกำจัดทำลายหรือขับไล่ศัตรูพืชสัตว์และมนุษย์สารพิษที่สำคัญได้แก่


        1.1 สารพิษป้องกันกำจัดแมลง (insecticides) คือ สารเคมีที่ใช้ในการป้องกันและกำจัดแมลงและหนอนที่เป็นศัตรูพืช สัตว์ และมนุษย์มีทังที่อยู่ในรูปสารประกอบทางอินทรีย์ และอนินทรีย์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองในธรรมชาติ หรือสังเคราะห์ขึ้น สารพษป้องกันกำจัดแมลงที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
         - i) กลุ่มออร์แกนโนคลอรีน (Organocholrine) สารประกอบที่มีคลอรีน (Cl) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ สารพิษในกลุ่มนี้จะมีความคงตัวสลายตัวยาก จึงปนเปื้อนอยู่ในธรรมชาติได้นาน บางชนิดจะมีพิษตกค้างอยู่ได้นานเป็นสิบๆ ปี มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงกลุ่มนี้จะมีฤทธิ์ไปทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ถ้าได้รับสารพิษนี้เข้าไปจำนวนมากจะทำให้เกิดอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ ท้องร่วง อาจเกิดหัวใจวายและตายได้ แต่ถ้าได้รับปริมาณน้อยๆ ค่อยๆ สะสมใน่างกายจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ ได้ ตัวอย่างของสารพิษพวกนี้ได้ แก่ ดีดีที ออลดริน ดิลดริน เอนดริน เฮปคาคลอร์ ลินแดน ฯลฯ
         - ii)กลุ่มออร์แกนโนฟอสเฟต (Organophosphate) เป็นสารสังเคราะห์มาจากกรดฟอสฟอริค จึงมีฟอสฟอรัส (P) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ สารพิษพวกนี้จะสลายตัวได้ง่าย มีพิษตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่ยาวนานนัก โดยเฉลี่ยประมาณ 3-15 มักจะมีพิษรุนแรงมากต่อสิ่งมีชีวิต มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงได้ดี สารพิษป้องกันกำจัดแมลงทุกชนิดในกลุ่มนี้ จะมีผลต่อระบบความดันโลหิตและระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส (cholinesterase) ในเลือด ถ้าได้สารพิษนี้เข้าไปจะทำให้เกิดการเวียนศีรษะตื่นเต้นตกใจง่าย คลื่นไส้ เป็นตะคริว ชัก ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อและตายได้ ตัวอย่าง ของสารพิษพวกนี้ได้แก่ มาลาไธออน,อาชีเฟท,ไดโครวอส,เมวินฟอส,โมโนโครโตฟอส ฯลฯ
         - iii) กลุ่มคาร์บาเมท (Carbamate) เป็นอนุพันธ์ของกรดคาร์บามิกมีธาตุไนโตรเจน (N) เป็นองค์ประกอบ สลายตัวง่าย มีฤทธิ์ในการฆ่าแมลงได้อย่างกว้างขวางและค่อนข้างจะมีพิษต่อมนุษย์และสัตว์เลือดอุ่นน้อยกว่า 2 กลุ่มแรก แต่จะมีพิษสูงต่อผึ้งและปลาสารพิษกลุ่มนี้จะมีผลต่อระดับของเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสและเป็นพิษต่อระบบประสาทเช่นเดียวกับสารพิษกลุ่มออร์แกนโนฟอสเฟต ดังนั้น ถ้าได้รับสารพิษพวกนี้เข้าไปก็จะเกิดอาการคล้ายคลึงกัน ตัวอย่างของสารพิษพวกนีได้แก่ คาร์บาริล, ไบกอน, คาโบฟูเรน ฯลฯ
         - iv) กลุ่มไพรีรอย (Pyrethroids) ได้แก่สารพิษไพรีทริน (pyrethrin)
ซึ่งมีได้ทั้งจากธรรมชาติ คือ สกัดได้จากดอกทานตะวัน และจากการสังเคราะห์ขึ้น ตัวอย่างเช่น สารเฟอร์เมทริน สารเรสเมทรินไซเปอร์เมทริน ฯลฯ สารพิษกลุ่มนี้ใช้ฆ่าแมลงได้ดี แต่ต้นทุนการสังเคราะห์สูงกว่าที่สกัดได้จากธรรมชาติ จึงทำให้มีราคาแพงมาก สารพิษกลุ่มนี้มีพิษต่อมนุษย์และสัตว์เลือดอุ่นค่อนข้างน้อยและสลายตัวได้ง่าย

       1.2 สารพิษป้องกันกำจัดวัชชพืช (herbicides) เป็นสารเคมีที่ใช้ป้องกันและกำจัดวัชชพืชที่ขึ้นในที่ที่เราไม่ต้องการให้ขึ้นโดยมามักเรียกว่า "ยาฆ่าหญ้า" ทั้งๆ ที่ยาบางชนิดสามารถทำลายพืชอื่นๆ ได้นอกจากหญ้าปัจจุบันมีสารพิษกำจัดวัชชพืชจำหน่ายอยู่มากกว่า 150 ชนิดหลายร้อยสูตรและมีประสิทธิภาพการตกค้างอยู่ในดินในสภาวะที่เหมาะสมได้เป็นเวลานานเช่นกันตัวอย่างของสารพิษพวกนี้ ได้แก่ พาราคว๊อต 2, 4, 5-T,2, 4 - D, ดาราปอน 85 % อะตราซึน ฯลฯ
         1.3
สารพิษป้องกันกำจัดเชื้อรา (fungicides) เป็นสารเคมีที่ใช้ป้องกันกำจัดเชื้อราที่พืชพันธุ์ธัญญาหาร เมล็ดพืช ผัก ผลไม้ตลอดจนเชื้อราที่ขึ้นอยู่ตามผิวดินสารพิษในกลุ่มนี้มีมากกว่า 250 ชนิดมีทั้งที่เป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์นอ้ยจนถึงพวกที่มีพิษสูงตลอดจนอยู่ในสภาวะแวดล้อมได้นานตัวอย่างของสารพิษพวกนี้ได้แก่ คอปเปอร์ซัลเฟต แคปเทน ไชเนป นาเนบ เบนเลท ฯลฯ

         1.4
สารพิษป้องกันกำจัดสัตว์แทะ (rodenticides) เป็นสารเคมีที่ใช้กำจัดหนูหรือสัตว์ฟันคู่ บางชนิดมีพิษร้ายแรงมากตัวอย่างของสารพิษพวกนี้ ได้แก่ โซเดียมโมโนฟลูออโร-อาซีเดท ซิงค์ฟอสไซด์วอฟารินฯลฯ

         
นอกจากนี้ยังมีสารพิษป้องกันกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ อีกได้แก่สารพิษป้องกันกำจัดสาหร่าย (algicides) สารพิษป้องกันกำจัดหนอน ไส้เดือนฝอย (nematocides) สารพิษป้องกันกำจัด เห็บ , ไร (acaricides) เป็นต้น

 

2. โลหะหนัก

           เป็นสารพิษอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญมากมีทั้งที่พบอยู่ทั่วๆไป ตามธรรมชาติ และเป็นสารประกอบของโลหะที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นมา โลหะหนักที่สำคัญๆ คือ

          2.1 ตะกั่ว เป็นโลหะหนักที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่นใช้เป็นสารผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง ใช้ในอุตสาหกรรม แบตเตอรี่ อุตสาหกรรมกรดซัลฟูริคทำโลหะเจือ ทำกระสุนปืน สีทาเหล็ก และงานบัดกรี เป็นต้นตะกั่วสามารถปะปนอยู่ในบรรยากาศ อาหารรับประทานและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ได้พิษของตะกั่วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดเลือดแดงมีผลกระทบต่อระบบประสาทและทำให้เกิดอันตรายต่อไต
         2.2
ปรอท มนุษย์นำปรอทไปใช้ผสมหรือเจือโลหะต่างๆ เช่น ทองคำ เงินและทองแดงที่เรียกว่า "อะมัลกัม" นำไปใช้ในการอุดตันใช้เป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเป็นองค์ประกอบของยาปราบศัตรูพืชและสัตว์พิษของปรอทเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ทำลายเนื้อเยื่อปอดทำลายระบบขับถ่ายและระบบประสาท ส่วนกลาง

3. สารระคายผิว

           เป็นสารพิษที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบได้ เมื่อสัมผัสบ่อย ๆเป็นเวลานานสามารถแบ่งได้เป็นกลุ่ม

          3.1 พวกที่ละลายไขมันได้แก่ ตัวทำละลายที่ใช้กันทั่วๆ ไป เช่นอะซีโตน, อีเทอร์, เอสเตอ, สารละลายด่างตัวทำละลายนี้จะละลายไขมันตามธรรมชาติและอาจจะละลายผิวชั้นนอกได้ด้วย
         3.2
พวกที่ดึงน้ำออก เมื่อถูกผิวหนังจะดึงน้ำออกจากผิวหนังเกิดความร้อนให้กรดที่กัดผิวหนัง เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ซัลเฟอร์ไทรออกไซด์, ฟอสฟอรัสเพนทอกไซด์, แคล-เซี่ยมออกไซด์แคลเซี่ยมคลอไรด์

         3.3
พวกที่ทำปฏิกิริยากับน้ำหรือการแตกตัว น้ำจะทำให้สารหลายชนิดแตกตัวให้อิออน เช่นน้ำกับฟอสฟอรัสเพนตะคลอไรด์ให้คลอไรด์ อิออน และกรดไฮโปคลอรัส เป็นต้น

         3.4
พวกที่ตกตะกอนโปรตีน เช่น เกลือของโลหะหนักต่างๆ แอลกอฮอล์, ฟอร์มาดีไฮด์ กรดแทนนิล ฯลฯ

         3.5
พวกออกชิไดเซอร์ ซึ่งจะรวมกับไฮโดรเจนปล่อยออกซิเจนออกมา เช่น คลอรีน, เฟอร์ริคคลอไรด์, กรดโครมิล, สารเปอแมงกา-เนทเป็นต้น

         3.6
พวกรีดิวเซอร์ซึ่งจะไปดึงเอาออกซิเจนออกมาทำให้ผิวลอกหรือผิวชั้นนอกหนาขึ้น เช่น ไฮโดรควินโนน, ซัลไฟท์ เป็นต้น

         3.7
พวกที่ทำให้เป็นมะเร็งโดยไปกระตุ้นการเติบโตของผิวชั้นนอกและกลายเป็นเซลล์มะเร็ง เช่น สารที่กลั่นจากถ่านหิน อะนีลิน เป็นต้น

4. สารที่เป็นผงหรือฝุ่นซึ่งมีอนุภาคเล็กๆ

          เข้าสู่ร่างกายได้ โดยการหายใจ ตัวอย่างผงฝุ่นของแอสเบสตอสทำให้เกิดโรค ปอดแข็ง (asbestosis) ผงฝุ่นของซิลิเกทเป็นอันตรายต่อปอดผงฝุ่นของโลหะต่าง ๆ เช่น ตะกั่ว, ปรอท, แมงกานีส, แคดเมี่ยม ฯลฯ ก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายได้

5. สารที่ให้ไอเป็นพิษ

          เป็นสารเคมีที่ให้ไอพิษเมื่อสูดดมเข้าไปทำให้เป็นพิษต่อร่างกายได้แก่ ตัวทำละลายต่าง ๆ เช่น เบนซิน คาร์บอนไดซัลไฟต์ คาร์บอนเตดตะคลอไรด์เมทธิลแอลกอฮอล์ ฯลฯ

6. ก๊าซพิษ

          มีหลายชนิดที่ใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมก๊าซพิษบางชนิดมีอันตรายมาก โดยอาจทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนหรือทำความระคายหรืออันตรายต่อร่างกาย และเราอาจมีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เช่นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์, ไฮโดรเจนไซยาไนต์, ไฮโดรเจนซัลไฟต์, ไนโตรเจนออกไซด์, พอสจีนฯลฯ

7. สารเจือปนในอาหาร

          เป็นสารเคมีที่นำมาใส่เข้าไปในอาหารโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันมิให้อาหารเสียเพื่อการคงไว้หรือเพิ่มคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของอาหาร ตลอดจนเพื่อให้อาหารนั้นมีกลิ่นรส สี ที่น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น สารเคมีเหล่านี้บางชนิดถ้าใส่ในปริมาณมากเกินไปก็จะก่อให้เกิดเป็นพิษเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ตัวอย่าง เช่น สารไนเตรทไนไตรท์ ผงชูรส โซเดียม เบนโซเอท เป็นต้นนอกจากนี้สารเคมีบางชนิดก็เป็นสารที่เป็นพิษมีอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ตัวอย่างเช่นสีย้อมผ้า กรดกำมะถัน บอแรกซ์ กรดซาลิโซลิก เป็นต้น

8. สารพิษที่สังเคราะห์โดยสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

          ได้แก่ สารที่สังเคราะห์จากเชื้อรา แบคทีเรี พืช และสัตว์บางชนิดตัวอย่างของสารพิษที่เกิดจากเชื้อรา เช่น สารพิษ Aflatoxin เกิดจากเชื้อราพวก Aspergillus flavus ที่ขึ้นอยู่ในถั่วลิสง ข้าวโพดหรืออาหารแห้งอื่นๆ หรือสารพิษ Botulinum toxin เกิดจากเชื้อแบททีเรีย Clostridium botulinum ที่ขึ้นในอาหารกระป๋องที่ผลิตไม่ได้มาตราฐานสารพิษ Trichothecene หรือ T-2 toxin เกิดจากเชื้อรา Fusarium tricinetum ที่ขึ้นในข้าวโพด เป็นต้นสำหรับพืชและสัตว์ที่สามารถสร้างสารพิษได้ เช่น เห็ดพิษ กลอย มันสำปะหลัง คางคกเหรา (สัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง) ปลาปักเป้า เป็นต้น

9. สารกัมมันตภาพรังสี

          เป็นสารที่สามารถแผ่รังสีมาจากตัวเองได้มนุษย์ได้มำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่สำคัญคือในด้านการแพทย์ และการผลิตไฟฟ้าสารกัมมันตภาพรังสีนับเป็นสารที่มีพิษต่อสิ่งมีชีวิตมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสารพิษชนิดอื่นๆ โดยจะทำอันตรายโดยตรงและถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้อีกด้วย กัมมันตภาพรังสีที่แผ่ออกมามี 3 ชนิด คือรังสีอัลฟา รังสีเบต้า และรังสีแกมมา สารกัมมันตภาพรังสีในธรรมชาติมีหลายตระกูลแต่ที่สำคัญที่สุด คือ ตระกูลยูเรเนียม และตระกูลทอเรียม ที่สำคัญรองลงมาคือโปแตสเซียม -40 ยูบีเดียม - 87 สมาเรียม - 147 ลูซีเตียม - 176 และเรเดียม - 220 เป็นต้น

 

สำหรับขยะของเสีย ที่สำคัญซึ่งเป็นปัญหากระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมาจากแหล่งต่างๆ ดังนี้

1. ภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ สารเคมีเหลือทิ้ง เศษวัตถุดิบ เศษผลิตภัณฑ์ น้ำเสีย อากาศเสีย กากขยะอุตสาหกรรม สารเคมีเหลือทิ้ง ซากสารเคมีที่ถูกเผาไหม้ น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว กากน้ำมัน

2. สถานพยาบาล ได้แก่ มูลฝอยติดเชื้อ เศษชิ้นส่วนอวัยวะต่าง ๆ เศษเนื้อเยื่อ สารกัมมันตรังสี ซากสัตว์ทดลองและสิ่งขับถ่ายหรือของเหลวจากร่างกายผู้ป่วย

3. ชุมชนบ้านเรือน ได้แก่ ถ่านไฟฉายหมดสภาพ (มีสารแคดเมียมซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อโครงสร้างกระดูก) แบตเตอรี่รถยนต์เก่าใช้แล้ว (มีแผ่นธาตุตะกั่วที่สามารถทำอันตรายต่อระบบการสร้างเม็ดเลือดแดงของมนุษย์) น้ำยาทำความสะอาด หลอดฟลูออกเรสเซนต์ (มีสารปรอทซึ่งทำอันตรายต่อระบบประสาท) สารเคมีกำจัดยุง-แมลง ขยะมูลฝอยสด เศษอาหาร กระดาษ โฟม พลาสติก ขวด แก้ว โลหะ 

4. ภาคเกษตรกรรม ได้แก่ ภาชนะขวดบรรจุสารเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกายสิ่งมีชีวิต

ของเสียพวกนี้สามารถแบ่งตามคุณลักษณะต่างๆได้ 10 แบบ ได้แก่
  • วัตถุระเบิดได้
  • วัตถุไวไฟ
  • วัตถุออกซิไดซ์และวัตถุเปอร์ออกไซด์
  • วัตถุมีพิษ
  • วัตถุที่ทำให้เกิดโรค
  • วัตถุกัมมันตรังสี
  • วัตถุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม
  • วัตถุกัดกร่อน
  • วัตถุทีก่อให้เกิดการระคายเคือง
  • วัตถุอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์ หรือ สิ่งอื่นใดอาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม

 

 

Visitors: 132,090